Head Coach STAGE to London 2023 ทันทีที่เปิดปฏิทินเข้าสู่ปีใหม่ เชื่อแน่ว่ารายการแรกที่นักวิ่งทั่วโลกต่างกำลังตั้งตารอคอยก็คือ London Marathon 2023 ซึ่งเป็น World Marathon Majors รายการแรกของปีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้ เช่นเดียวกับเหล่านักวิ่งชาว Stage Find The U ที่กำลังซุ่มฝึกซ้อมเพื่อลงสนามในรายการนี้อยู่เช่นกัน จึงเป็นโอกาสดีที่เราขอชวนแฟนๆ Stage มารับฟังบทสนทนาสุดเข้มข้นกับ ‘โค้ชเดี่ยว’ ร.ต.อ. ปฏิการ เพชรศรีชา อดีตนักกรีฑาทีมชาติไทย ผู้เป็น Head coach ของโปรเจ็ค STAGE to London 2023 รับรองว่าได้รับแรงบันดาลใจ มีแรงฮึดสู้เพื่อคว้าสถิติที่ดีกว่าเดิมกลับไปอย่างแน่นอน
โค้ชเดี่ยว : ถ้าเอาจากศักยภาพของมนุษย์เรา จบได้ทุกคนครับ แต่มันก็อาจจะมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ซึ่งก็เป็นเรื่องเฉพาะรายบุคคลไป เช่น ถ้าไม่เกิดอาการบาดเจ็บ เป็นตะคริว ทุกคนก็มีโอกาสจบมาราธอนได้ ยิ่งถ้าคุณไม่ได้กดดันด้วยสถิติเวลา ผมคิดว่าเราก็จบได้ทุกคนครับ มันแค่สี่สิบกว่ากิโลครับ
โค้ชเดี่ยว : ต้องบอกก่อนว่าการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่มันเป็นเรื่องของการชาเลนจ์ตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้คนคนนั้นพบอะไรหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ทั้งในเรื่องของร่างกายและความรู้สึก เพราะมันเป็นกิจกรรมที่ต้องอยู่กับตัวเอง อยู่กับความเจ็บปวด เจอกับความเหนื่อย ความทุกข์ จะต้องสู้กับใจตัวเองมากๆ เพราะพอเราวิ่งไปไกล ใจมันจะถอดอย่างเดียวเลย แต่นักวิ่งมาราธอนต้องอยู่กับมันให้ได้ ถ้าถอดใจก็คือจบ ต้องบอกก่อนว่าจะมีนักวิ่งส่วนหนึ่งที่มีแรงบันดาลใจคือเงินรางวัลจากการแข่งขัน ถ้าวิ่งไม่ติดอันดับ แปลว่าคุณจะไม่มีอะไรติดมือกลับบ้านเลย เขาเรียกว่านักวิ่งอาชีพ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะมีความมุ่งมั่น ตั้งใจและคาดหวังผลลัพธ์มากๆ ยังไงต้องวิ่งจบให้ได้ดีที่สุด เพื่อจะได้มีค่าครองชีพต่อไป แต่สำหรับคนทั่วไปก็คงไม่ถึงขนาดนั้น ขอแค่ให้มีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด ประกอบรวมกัน เราก็ไปถึงเส้นชัยได้ครับ
โค้ชเดี่ยว : สำหรับนักวิ่งชาว Stage เทคนิคและคำแนะนำก็มีครับ กรณีของเทคนิคก็จะเป็นเรื่องของการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายเพื่อช่วยพยุงกล้ามเนื้อไม่ให้มีการบาดเจ็บระหว่างวิ่งหรือฝึกซ้อม ต้องมีการยืดเหยียดเพื่อฝึกความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ และมีการฝึกฟอร์มการวิ่งให้สวย ให้สมูทก็คือฝึกเบสิกการวิ่ง และข้อแนะนำต่างๆ อีกมากมายเฉพาะบุคคลเพื่อที่จะทำให้แต่ละคนได้จบมาราธอนในแบบที่คุณอยากได้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการฝึกซ้อม ถ้าใครมีการฝึกซ้อมได้สม่ำเสมอแค่ไหน การฝึกซ้อมนั้นก็จะตอบสนองกลับมาเป็นผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น ในทางกลับกันถ้าไม่ค่อยซ้อม ถึงเวลาที่ต้องไปวิ่ง ผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายผู้นั้นก็จะหนักหน่อย อาจจะสะบักสะบอมกลับมา
โค้ชเดี่ยว : จริงๆ การวิ่งมาราธอน 1 ครั้งของคนคนหนึ่ง ผมอยากให้มีการเตรียมความพร้อม 1-2 ปีเลย ยิ่งถ้าไม่เคยวิ่งมาก่อนเลย แล้วใช้เวลาฝึกซ้อมแค่ 3 เดือนเพื่อไปวิ่งมาราธอน มันก็ทำได้ แต่จริงๆ ผมก็ไม่แนะนำเพราะมันยากและอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าคนที่ใช้เวลาฝึกสะสมมาเป็นปี เพราะจริงๆ ควรฝึกวิ่งไต่ระดับ 5 กิโล 10 กิโล 21 กิโลก่อน เพื่อให้ร่างกายเกิดความเคยชินกับการวิ่งและการใช้กล้ามเนื้อติดต่อกันนานๆ มันก็เหมือนคนทำงานที่เราต้องผ่านการฝึกงาน ทดลองงานมาก่อน ถึงจะเริ่มงานอาชีพจริงๆ แต่ถ้าถามว่าฝึกสั้นๆ 3-4 เดือนแล้ววิ่งได้ไหม มันก็ได้ มันก็มีทางลัด เพราะบางคนก็มีพรสวรรค์ของตัวเอง แล้วไปลุ้นเอาข้างหน้าว่าจะเจ็บหรือไม่เจ็บ และไปลุ้นการทำเวลาอีกทีว่าทำได้ดีไหม ถ้าไม่ดีก็จะโดน Cut Out ออก ถ้าวิ่งดีก็คือสุดยอด
โค้ชเดี่ยว : ก็อาจจะมีหนักใจเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่ยังผ่านการวิ่งมาน้อย อาจจะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ส่วนผมในฐานะที่เป็นโค้ช สิ่งที่เราต้องการก็คือการตอบสนองวัตถุประสงค์ของนักเรียน ซึ่งทุกคนก็มีเป้าหมายของตนเอง อย่างแรก คือการจบมาราธอนให้ได้ สอง คือการจบแบบไม่เจ็บ สาม ในใจลึกๆ ก็หวังจะได้เวลาที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นการฝึกซ้อมของผม บางครั้งก็ยอมรับว่าจะต้องมีหนักหน่วงบ้าง เพราะแต่ละคนที่ร่วมทริปทุกคนมีงานประจำ เขาไม่ได้ใช้เวลาเพื่อการฝึกซ้อมอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การพักผ่อน มันก็จะมีผลต่อการฝึกซ้อมด้วย ยิ่งเพราะทุกคนไม่ใช่นักกีฬาโดยตรง แต่ต้องทำงานด้วย แน่นอนว่าจะต้องมีการนอนดึก มีการกินที่หลุดออกจากสิ่งที่ควรจะเป็นไปบ้าง มันก็ต้องปรับกันไป หรือบางคนมีเวลาการซ้อมที่จำกัด ยืดเหยียด วอร์มกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้บาดเจ็บได้ และเป็นสิ่งที่ผมกังวล
โค้ชเดี่ยว : ถ้าเป็นนักกีฬาอาชีพจะต้องนอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมง และไม่ใช่ว่าจะเป็นเวลาไหนก็ได้ เพราะนักกีฬาจริงๆ เขานอนกันตั้งแต่ 4 ทุ่ม ดึกสุดก็ไม่เกิน 5 ทุ่ม แล้วตื่นตี 5 หรือ 6 โมงเช้า เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายจะได้รับการซ่อมแซม ดังนั้น ถ้าคุณนอน 6 ชั่วโมงก็จริง แต่นอนเที่ยงคืนหรือดึกกว่านั้น มันก็ไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนช่วงเวลาฝึกซ้อมวิ่งที่เหมาะสมคือตอนเช้า เพราะตอนเช้ามีออกซิเจนเยอะ เหมาะสำหรับการวิ่งทางไกลครับ
โค้ชเดี่ยว : จริงๆ แล้วผมก็มีความคาดหวังที่จะทำเวลาให้ดีที่สุดเพราะโอกาสที่จะได้ออกไปวิ่งมาราธอนต่างประเทศของผมมีน้อย เพราะมันต้องใช้เงินทุนเยอะต่อการไปวิ่ง 1 ครั้ง อย่างช่วงที่ผมติดทีมชาติ รายการวิ่งที่ผมเข้าร่วมก็จะอยู่เฉพาะในไทย ซึ่งอากาศมันร้อน แต่ครั้งนี้พอเรามีโอกาสที่จะออกไปวิ่งต่างประเทศที่มีอากาศเย็น เราก็หวังที่จะวิ่งให้ได้เวลาที่ดี แต่ประเด็นก็คือการไปวิ่งครั้งนี้ เราอยู่ในฐานะโค้ชไม่ได้อยู่ในฐานะนักกีฬา การฝึกซ้อมเพื่อให้ได้เวลาก็อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะเราจะต้องช่วยลูกทีมก่อน ดังนั้นส่วนตัวก็คือมีความดีใจที่จะได้ไปแต่ก็มีความกังวลเรื่องการฝึกซ้อมเหมือนกันครับ สำหรับเป้าหมายส่วนตัวที่ตั้งเป้าไว้ก็คือวิ่งให้ได้ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งครับ
โค้ชเดี่ยว : แรงบันดาลใจของผมก็จะเป็นนักวิ่งระดับโลกครับ เมื่อก่อนผมจะชอบดูนักวิ่งชาวอังกฤษชื่อ ‘โม ฟาร่าห์’ ถ้าเป็นยุคนี้ก็จะเป็น ‘คิปโชเก้’ คนเหล่านี้ เราจะชอบดูชีวประวัติของเขา เพราะการใช้ชีวิต การดำเนินชีวิตของนักวิ่งเหล่านี้ กว่าที่เขาจะถีบตัวเองขึ้นมาระดับโลกได้ ไม่ง่ายเลย ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีการฝึกซ้อมที่สมบุกสมบัน การเดินทางไปที่ต่างๆ ก็ใช้การวิ่งทั้งนั้น เช่น ไปโรงเรียน 7 กิโลเป็นทางขึ้นภูเขา เขาก็จะวิ่งขึ้นลงแบบนี้ทุกวัน สิ่งเหล่านี้มันเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าเรา มีความมุ่งมั่นกว่าเราอีกเยอะ มันก็จะทำให้เรามีกำลังใจสู้ต่อ และที่สำคัญก็คือการวิ่ง มันสามารถเปลี่ยนวงจรหรือสังคมของคนเราได้ ต้องบอกก่อนว่า พวกผมมาจากเด็กบ้านนอก ฐานะยากจน อยู่บ้านทำไร่ไถนา บางคนกินเหล้า สูบบุหรี่ เราก็อยากหลุดออกจากวงจรนี้ เรื่องราวของนักวิ่งระดับโลกที่มีภูมิหลังลำบาก จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา ว่าถ้าจะรอให้คนอื่นมาดึงเรา มันคงไม่มี มีแต่เราเท่านั้นที่จะดึงตัวเองขึ้นมาได้
ถ้าอยากจะเปลี่ยนแวดวงสังคมของเรา เราก็ต้องสู้ด้วยตัวเองครับ และสำหรับคนที่มีโอกาสที่ดีอยู่แล้ว ถ้าหากมีโอกาสได้วิ่งรายการระดับโลกก็อยากให้มีความมุ่งมั่นเพื่อทำผลงานที่ออกมาให้เต็มศักยภาพที่สุดเลยครับ