November 22, 2022

เวียนมาบรรจบอีกครั้งกับวันคนพิการแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน และที่ Stage Find The Real U เรามีความเชื่อในศักยภาพของทุกคนเสมอ แม้กับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย ขอเพียงมีความพยายามและความตั้งใจจริง หัวใจที่แข็งแกร่งจะพาท่านไปสู้เป้าหมายที่ใฝ่ฝันได้แน่นอน เช่นเดียวกับเรื่องราวที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจของ 5 ฮีโร่ผู้พิการชาวไทยที่เราคัดสรรมานำเสนอกันในวันนี้ ที่แม้ร่างกายอาจไม่สมบูรณ์แต่ด้วยจิตใจนักสู้ ประกอบกับความสามารถอันเปี่ยมล้น ทำให้พวกเขาคว้าชัยในเวทีระดับโลกได้สำเร็จ พร้อมแล้วไปอ่านเรื่องราวที่จะทำให้คุณใจฟู อยากออกไปทำเป้าหมายของตัวเองกันเลย!

‘กระสุน’ สุนทร ใจมาบุตร หรือที่รู้จักกันดีในหมู่นักไตรกีฬาว่า ‘โค้ชกระสุน’ ก่อนจะเป็นผู้พิการอัมพาตครึ่งตัว เขาผู้นี้เคยเป็นนักไตรกีฬาทีมชาติระดับดาวรุ่งของไทย คว้าแชมป์ไตรกีฬาระดับประเทศ 3 สมัยติดต่อกัน ในปี 2548-2550 แต่แล้ววันหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มหัวฟาดพื้นที่สระว่ายน้ำจนทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่หน้าอกลงไป แต่ด้วยหัวใจนักสู้ ‘โค้ชกระสุน’ ได้กลับมาฮึดสู้ฝึกซ้อมลงสนามอีกครั้งในฐานะนักไตรกีฬาผู้พิการ ตะลุยลงแข่งขันรายการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยสนามสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ‘โค้ชกระสุน’ ได้แก่ IRON MAN 70.3 Western Australia ซึ่งนักกีฬาผู้พิการจะต้องลงแข่งขัน ว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร Hand Cycling 90 กิโลเมตร และ Wheel Racing 21 กิโลเมตร บอกเลยโหดสุดๆ ซึ่ง ‘โค้ชกระสุน’ สามารถพิชิตการแข่งขันนี้ได้ด้วยเวลา 7.11.12 ชั่วโมง คว้าอันดับ 2 ของโลก ประเภทนักไตรกีฬาผู้พิการระดับอัมพาตช่วงอกลงไป เรียกได้ว่าสุดยอดทั้งจิตใจและฝีมือเลยทีเดียว

ปัจจุบัน ‘โค้ชกระสุน’ ยังคงอยู่ในแวดวงกีฬาอย่างเข้มข้นด้วยการเป็นโค้ชผู้ฝึกสอนให้กับนักกีฬาว่ายน้ำระดับเยาวชนทีมชาติ และนักไตรกีฬา Tri-Bullet ทั้งยังเปิด Wheelman Academy โดยเป็นโค้ชด้วยตัวเองที่ STAGE Find The Real U อีกด้วย สำหรับใครที่มีเป้าหมายด้านไตรกีฬาและอยากเรียนเทคนิคเทพๆ ฉบับโค้ชกระสุน สามารถติดต่อ STAGE Find The Real U ได้เลย!

กันยา เซสเซอร์ หญิงสาวนักสเก็ตไร้ขาชาวเมริกันเชื้อสายไทย จุดเริ่มต้นของชีวิตเธอเกิดขึ้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เด็กหญิงกันยา วัยเพียง 3-4 เดือนถูกวางทิ้งไว้หน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งบนถนนมิตรภาพสายเก่า ก่อนจะมีพลเมืองดีมาพบและนำตัวส่งโรงพยาบาลปากช่อง ในช่วงแรกเธอได้รับการดูแลโดยพยาบาล 3 คนที่เธอเรียกว่าแม่

จนกระทั่งอายุได้ 5 ขวบก็ได้รับการอุปการะโดยพ่อแม่ชาวอเมริกัน ชื่อว่า Jane-David Sesser ทำให้เธอได้มีชีวิตใหม่กับครอบครัวเซสเซอร์ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา โดยหลังจากการปรับตัวพักใหญ่ กันยาก็ใช้ชีวิตกลมกลืนกับครอบครัวและเพื่อนได้อย่างดี ไม่เคยทำให้ร่างกายที่ไร้ขาต้องมีข้อจำกัด โดยเธอเคยกล่าวว่ามันเป็นสัญญาติญาณของการมีชีวิตรอด เธอโชคดีที่มีคนรอบข้างสนับสนุนเสมอ จึงไม่เคยเสียความมั่นใจ

ในทางตรงข้ามเธอรู้สึกมั่นใจในความแตกต่าง และรักตัวเองมาก โดยกิจกรรมที่เธอชื่นชอบมากๆ คือการเล่นกีฬา กันยาเล่นกีฬาทุกชนิดที่สามารถเล่นได้ ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล เบสบอล บาสเก็ตบอล โดยเฉพาะสเก็ตบอร์ดซึ่งเป็นกีฬาที่กันยาโปรดปรานมาตั้งแต่อายุ 9-10 ขวบ และยังคงเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

และด้วยรูปลักษณ์และความสามารถอันโดดเด่นทำให้เธอกลายเป็นคนดังในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้เป็นนักแสดงในทีวีซีรีส์และภาพยนต์ชื่อดังมากมาย อาทิ Hawaii Five-O , The Walking Dead , The Fear of Walking Dead, The Keeper เป็นต้น นอกจากนี้ กันยา เซสเตอร์ ยังได้รับเชิญให้ไปเล่นสเก็ตโชว์บนรันเวย์แบรนด์เสื้อผ้า ใน New York Fashion Week อีกด้วย เรียกได้ว่าเรื่องราวของเธอผู้นี้เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการไม่ยอมแพ้ แม้ร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่ทัศนคติและการมองโลกคือสุดยอดจนต้องขอคารวะจริงๆ

พงศกร แปยอ เป็นสุดยอดนักกีฬาผู้พิการอีกท่านหนึ่งที่มีพรสวรรค์ทะลุขีดจำกัดของร่างกาย เพราะแม้ว่าเขาจะเป็นผู้พิการโปลิโอไม่สามารถใช้ขาทั้งสองข้างได้ตั้งแต่กำเนิด แต่ก็ไม่เคยพ่ายแพ้ให้กับโชคชะตา หันมาเอาดีด้านกีฬาจนได้เป็นนักกีฬาวีลแชร์ครั้งแรกในปี 2009 โดยครูผู้ฝึกสอนยังเคยกล่าวถึงพรสวรรค์ของพงศกรว่า ก่อนจะแข่งขันวีลแชร์ เรซซิ่งครั้งแรกในรายการ ‘นครสุโขทัยเกมส์ 2009’

พงศกรไม่เคยรู้จักกีฬาชนิดนี้มาก่อน แต่ใช้เวลาฝึกซ้อมเพียง 1 เดือนก็สามารถคว้าเหรียญทองแดงมาได้ถึง 2 รายการ จากระยะ 100 เมตร และ 400 เมตร จนมีนักกีฬาทีมชาติรุ่นพี่เห็นแวว ขอทาบทามจากครอบครัวให้มาฝึกซ้อมเป็นนักกีฬาทีมชาติด้วยกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมา พงศกรลงสนามแข่งในฐานะทีมชาติไทยมาเรื่อยๆ จนแจ้งเกิดในสนามแข่งระดับโลกในรายการ World Championships ปี 2015 ที่เขาสามารถคว้า 2 เหรียญเงินมาได้สำเร็จ และค่อยๆ พัฒนาฝีมือจนคว้าเหรียญทองสำเร็จครั้งแรกในรายการพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงริโอเดอจาเนโร และเดินสายเก็บเหรียญทองเรื่อยมาในแทบทุกรายการที่เขาลงแข่ง โดยในที่สุด รายการพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว

ชื่อของพงศกรก็กู่ก้องไปทั่วสนาม ด้วยการสร้างสถิติโลกใหม่ในรายการแข่งวีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตร ด้วยเวลา 46.61 วินาที คว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์เหรียญที่ 3 ในชีวิตได้สำเร็จ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าชีวิตคนเราสามารถพลิกผันไปในทางที่ดีได้ด้วยความอดทนพยายามและการไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง เพราะสำหรับพงศกร เขาใช้เวลาเพียง 5-6 ปีเท่านั้น ในการเปลี่ยนจากเด็กผู้พิการชาวขอนแก่น กลายเป็นนักกีฬาใจสู้ผู้สร้างสถิติโลก

ฮีโร่สาวชาวไทยอีกท่านที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ก็คือ สายสุนีย์ จ๊ะนะ หรือ ‘แวว’ นักวีลแชร์ฟันดาบสุดเก๋าทีมชาติไทย ที่แม้ปัจจุบันจะมีอายุ 48 ปี แต่บอกเลยว่าพรสวรรค์และฝีมือของสาวแกร่งชาวเชียงใหม่ผู้นี้นั้นมีเหลือเฟือ สำหรับแบ็กกราวน์ของสายสุนีย์ บอกเลยว่ากว่าจะมาถึงวันนี้นั้นไม่มีคำว่าง่าย เพราะเธอไม่ได้เป็นผู้พิการมาตั้งแต่กำเนิด แต่เพราะโชคร้ายได้รับอุบัติเหตุโดนรถชนแล้วหนีจนเธออาการสาหัส กระดูกแตกทิ่มเส้นประสาท กระดูกสันหลังหักถึงขั้นเอนหลังนอนไม่ได้ และกลายเป็นผู้พิการนั่งวีลแชร์นับตั้งแต่อายุ 17 เป็นต้นมา นับเป็นความพังทลายของความฝันที่เธออยากเป็นคุณครูมาตั้งแต่เด็กเพื่อหวังจะเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างลำบาก เธอจมอยู่กับความโศกเศร้าถึง 5 ปีก่อนจะมาพบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตเมื่อเธอได้ก้าวไปยังศูนย์ฝึกอาชีพเชียงใหม่ ณ ที่นั่นทำให้เธอได้ลองเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลวีลแชร์ครั้งแรก และพบว่าเธอทำมันได้อย่างยอดเยี่ยมแบบคาดไม่ถึง

ในระยะแรกสายสุนีย์ได้รับการฝึกเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลวีลแชร์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเรียนกีฬาฟันดาบ พรสวรรค์ด้านกีฬาฟันดาบของเธอฉายแววมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดความสำเร็จในเวทีระดับโลกของเธอก็มาถึงในปี 2004 ที่สายสุนีย์สามารถคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงเอเธนส์ 2004 มาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเหรียญทองแรกของประวัติศาสตร์นักกีฬาหญิงไทยในพาราลิมปิกเกมส์อีกด้วย

นับจากนั้นมาเธอก็ได้ไล่เก็บเหรียญรางวัลในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พาราลิมปิกเกมส์ ปักกิ่ง 2008 , ลอนดอน 2012 , ริโอ 2016 และ โตเกียว 2020 ยังไม่นับรายการอื่นๆ ระดับเวิร์ลคัพอีกมากมาย โดยรายการล่าสุดอย่าง IWAS Wheelchair Fencing World Cup 2022 ที่ประเทศโปแลนด์ เธอก็ยังสร้างชื่อเสียง คว้าแชมป์โลกประเภทฟอยล์บุคคลหญิงมาครองได้สำเร็จอีกด้วย

นับเป็นความมหัศจรรย์ที่เธอสามารถเล่นกีฬาสุดหินอย่างฟันดาบได้อย่างเก่งกาจที่แม้คนปกติก็ยังเล่นให้เก่งได้ยาก เป็นอีกบทพิสูจน์ว่าทุกสิ่งเป็นไปได้เสมอ หากเรามุ่งหน้าทำต่อไปแบบไม่ให้มีอะไรมาเป็นอุปสรรคขัดขวางแม้จะด้วยข้อจำกัดด้านร่างกายก็ตาม

ภราดร รุ่งเรือง หรือ ‘กอล์ฟ’ เด็กชายนักฟุตบอลจากเมืองสุพรรณที่มีความใฝ่ฝันเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ แต่แล้ววันหนึ่งด้วยอายุเพียง 12 ปี กอล์ฟกลับเจอกับอุบัติเหตุไฟช็อตจากเสาไฟฟ้าแรงสูง ทำให้เขาต้องฝันสลายแถมยังสูญเสียขาและแขนไป แต่ด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ หลังจากรักษาตัวจนกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง กอล์ฟพยายามมองหาลู่ทางเพื่อสร้างรายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว ซึ่งมีข้อจำกัดว่าเขาจะต้องทำได้เองในบ้าน เนื่องจากแผลผิวหนังพุพองจากไฟช็อตทำให้เขาไม่สามารถโดนแสงแดดกระทบโดยตรงได้

จนมาพบกับการเล่นเกมส์ออนไลน์ที่เขาสามารถใช้ปากคาบเมาส์ปากกาเล่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ มีความคล่องแคล่วว่องไวไม่แพ้คนที่ใช้มือเลยทีเดียว จนทำให้น้าของเขาแนะนำให้ลองสตรีมเกมส์เพราะนี่เป็นหนทางสร้างรายได้ จนปัจจุบันกอล์ฟมีรายได้จากการสตรีมเกมส์ แถมยังมีเพจเฟซบุ๊คของตัวเองชื่อว่า Golf No Hands Channel อีกด้วย โดยล่าสุดเพจของกอล์ฟมีผู้ติดตามมากถึง 2.9 แสนคนเลยทีเดียว สำหรับจุดเด่นของกอล์ฟคือการสอดแทรกการพูดให้กำลังใจผู้อื่นไปในไลฟ์ของเขา จนได้ชื่อว่าเป็น ‘สตรีมเมอร์ไร้แขน ผู้สร้างแรงบันดาลใจ’

STAGE Find The Real U - Fitness
95 Yothinpattana 11 Yaak 7 Khlong Chan, Bang Kapi District, Bangkok, 10240

Tel : 02-003-5445

Copyright © 2022 All Rights Reserved​ stage find the real u